10 คำถามเกี่ยวกับ การตรวจและรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสี

ข้อมูลโดย รศ.พญ.สุภัทรพร เทพมงคล
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. สารกัมมันตรังสีคืออะไร

สารกัมมันตรังสี คือ ธาตุที่มีการสลายตัวและปล่อยรังสี ซึ่งเป็นพลังงานรูปหนึ่งออกจากตัวเองตลอดเวลา จนกว่าจะหมดอายุ โดยมีครึ่งอายุเฉพาะตัวต่าง ๆ กัน เช่น ไอโอดีน-131 มีครึ่งอายุ 8 วัน แร่ซีเซียม-137 มีครึ่งอายุ 30 ปี เป็นต้น

2. สารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์มีกี่แบบ

สารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ มีชนิดที่นำมาใช้เดี่ยวๆ โดยไม่ต้องนำไปดัดแปลง เช่น โคบอล์ต 60 (Co-60) หรือ ซีเซียม-137 (Cs-137) นำมาใช้ในการฉายรังสีรักษามะเร็ง หรือ I-131 นำมาใช้ในการรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์ นอกจากนี้ยังมีชนิดที่ต้องนำมาติดสลากกับสารเภสัชอื่นๆ เพื่อเพิ่มความจำเพาะต่อเซลหรือความผิดปกติที่ต้องการตรวจรักษา สารเหล่านี้ เราเรียกว่า สารเภสัชรังสี ซึ่งเกิดจากการนำสารกัมมันตรังสี เช่น I-131, Tc-99m มาติดสลากกับสารเภสัชบางชนิดได้เป็นสารเภสัชรังสีซึ่งมีความจำเพาะต่อเซลแต่ละชนิดที่ต้องการตรวจ เช่น I-131 MIBG นำมาใช้ในการตรวจและรักษาเนื้องอกของต่อมหมวกไต หรือ Tc-99m MDP นำมาใช้ในการตรวจกระดูก ซึ่งเมื่อทำการถ่ายภาพจะเห็นเฉพาะกระดูกเท่านั้น

3. หลักการของการนำสารเภสัชรังสีมาใช้ในการตรวจเป็นอย่างไร

เราจะต้องให้สารเภสัชรังสีเขาไปในร่างกายมนุษย์ อาจจะโดยการรับประทาน ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือให้เข้าไปทางอื่นๆ จากนั้นสารเภสัชรังสีจะเข้าไปจับจำเพาะกับเนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจ สารกัมมันตรังสีที่อยู่ในร่างกายแล้วจะเปล่งรังสีแกมม่าออกมา จึงสามารถทำการถ่ายภาพด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีแกมม่าหรือเครื่อง SPECT สแกน หรือเครื่อง PET สแกน ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่าการตรวจสแกน

4. การนำมาใช้ในการตรวจ มีอะไรบ้าง

การนำมาใช้ในการตรวจมีทั้งการตรวจในหลอดทดลองและการตรวจในร่างกายมนุษย์ซึ่งก็คือการตรวจถ่ายภาพสแกนนั่นเอง การตรวจถ่ายภาพสแกนสามารถตรวจความผิดปกติได้หลายประเภทขึ้นกับสารเภสัชรังสีที่ใช้ เช่น การตรวจการทำงานของไตแบบแยกข้างรวมทั้งดูการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ การตรวจกระดูก การตรวจสมองในโรคสมองเสื่อมหรือโรคลมชัก การตรวจกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การตรวจมะเร็งทั่วร่างกายด้วย PET สแกน เป็นต้น

5. การตรวจโดยใช้สารเภสัชรังสี แตกต่างจากการตรวจเอกซเรย์ทั่วไปหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อย่างไร

การตรวจโดยใช้สารเภสัชรังสีมีความต่างคือจะเห็นเฉพาะส่วนของเนื้อเยื่อหรือเนื้องอกที่ต้องการตรวจ จึงเรียกการตรวจเหล่านี้ว่าเป็นการตรวจในระดับโมเลกุล นอกจากนี้การจับของสารเภสัชรังสีบางประเภทยังบอกถึงการทำงานของอวัยวะนั้นๆ ซึ่งมักพบความผิดปกติได้ไวกว่าการตรวจโดยเอกซเรย์ปกติ แต่ยังมีข้อด้อยคือไม่สามารถเห็นรายละเอียดของอวัยวะหรือความสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นๆได้ชัดท่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเครื่องสมัยใหม่ได้นำเอาการตรวจสแกนและการตรวเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มารวมกัน จึงสามารถทั้งตรวจพบความผิดปกติได้ไวและเห็นรายละเอียดได้ชัดอีกด้วย

6. การนำสารเภสัชรังสีมาใช้ในด้านการรักษามีหลักการอย่างไร

สารเภสัชรังสีส่วนใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันจะให้รังสีเบต้าซึ่งมีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อที่มันไปจับได้ จึงนำมาใช้ในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรักษามะเร็ง อาจมีการรักษาอื่นๆบ้างเช่น การรักษาข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น

7. การนำสารเภสัชรังสีมาใช้ในด้านการรักษามีอะไรบ้าง

สารที่นำมาใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือ I-131 ซึ่งจับกับเนื้อเยื้อไทรอยด์ จึงใช้รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์ ส่วนสารอื่นๆที่ใช้ในประเทศไทย เช่น I-131 MIBG ใช้ในการรักษาเนื้องอกต่อมหมวกไต Y-90 Ibiritumomab tiuxetan ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง Sm-153 EDTMP ใช้รักษามะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกที่มีอาการปวด เป็นต้น

8. การรักษาด้วยสารเภสัชรังสีต่างจากการรักษาชนิดอื่นๆอย่างไร

เป็นการรักษาที่สารเภสัชจะจับจำเพาะกับเนื้อเยื่อที่ต้องการรักษา รวมทั้งมีผลจากกัมมันตภาพรังสีที่ติดสลากกับเภสัชด้วยจึงให้ผลการรักษาเพิ่มขึ้นจากการให้สารเภสัชหรือยาเดี่ยวๆ

9. มีอันตรายจากรังสีหรือไม่

การรักษาทุกชนิดมีทั้งประโยชน์และอาจมีผลข้างเคียงจากการักษา ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ระวังผลข้างเคียงจากรังสีที่จะให้ ไม่ให้มีอันตรายต่อผู้ป่วย

10. ผู้ที่อยู่รอบข้างผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจและรักษาด้วยสารเภสัชรังสี ควรปฏิบัติตนอย่างไร

สำหรับการตรวจส่วนใหญ่มีปริมาณรังสีไม่มาก ดังนั้นเมื่อกลับบ้านจึงไม่ต้องแยกผู้ป่วยออกจากผู้อื่น ส่วนในการรักษาเมื่อแพทย์ให้ผู้ป่วยกลับบ้านแสดงว่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อสาธารณชนแล้ว แต่อย่างไรก็ดี การรักษาบางอย่างยังอาจต้องแยกผู้ป่วยไม่ให้อยู่ใกล้ชิดผู้อื่นอีกระยะหนึ่งตามคำแนะนำของแพทย์

© 2024 Nuclear Medicine Society of Thailand. All Rights Reserved.