เวชศาสตร์นิวเคลียร์คืออะไร

ข้อมูลโดย รศ.นพ.ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์
สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวชศาสตร์นิวเคลียร์คืออะไร

เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งของรังสีวิทยาที่ใช้สารเภสัชรังสีในการตรวจและรักษาโรค โดยครอบคลุมถึงการบริการผู้ป่วย การเรียนการสอนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆและงานวิจัย การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีข้อดีคือจะสามารถตรวจได้ถึงระดับโมเลกุลซึ่งเป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของร่างกาย จึงสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค

สารเภสัชรังสีคืออะไร
Radiopharm
สารเภสัชรังสีส่วนใหญ่จะเป็นของเหลว

สารเภสัชรังสีได้แก่สารที่ประกอบด้วยสารเคมีติดอยู่กับสารกัมมันตรังสี เช่น Tc-99m MDP เป็นสารเภสัชรังสีที่ใช้ตรวจกระดูกประกอบด้วยสารเคมีคือ MDP และสารกัมมันตรังสีคือ Tc-99m (เทคนีเชี่ยม-99เอ็ม) เป็นต้น ขั้นแรกของการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์คือการให้สารเภสัชรังสีเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งด้วยการฉีด การรับประทาน หรือการสูดหายใจ เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วสารเภสัชรังสีจะไปสู่อวัยวะต่างๆที่จะทำการตรวจรักษา การตรวจอวัยวะต่างกันก็จะใช้สารเภสัชรังสีต่างกัน เช่นถ้าต้องการตรวจกระดูกก็จะใช้สาร Tc-99m MDP แต่ถ้าต้องการตรวจไตก็จะใช้สาร Tc-99m DTPA เป็นต้น จากนั้นสารกัมมันตรังสีที่ติดอยู่กับสารเคมีจะปล่อยรังสีออกมาให้สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องตรวจชนิดพิเศษที่อยู่ภายนอกร่างกาย หากสามารถตรวจวัดปริมาณรังสีได้มาก แสดงว่ามีสารเภสัชรังสีไปอยู่ในอวัยวะนั้นๆมาก แสดงว่าอวัยวะนั้นยังทำงานได้ดี เป็นต้น

สารเภสัชรังสีเหมือนสารทึบรังสีหรือไม่

สารเภสัชรังสีไม่ใช่สารทึบรังสีเพราะมิได้มีคุณสมบัติกำบังรังสี

สารเภสัชรังสีมีอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานหรือไม่

ผู้ปฏิบัติงานสามารถบริหารสารเภสัชรังสีได้อย่างปลอดภัยภายใต้หลักการป้องกันอันตรายจากรังสี

สารเคมีในสารเภสัชรังสีมีอันตรายหรือไม่

ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เนื่องจากปริมาณที่ให้เข้าสู่ร่างกายนั้นน้อยมาก ไม่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆเลย นอกจากนี้มีรายงานถึงการก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยมากๆ และหากเกิดขึ้นก็มีอาการเพียงเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

สารกัมมันตรังสีคืออะไร มีอันตรายหรือไม่

สารกัมมันตรังสีคือสารที่สามารถปล่อยรังสีออกมาได้ด้วยตัวเอง สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติและที่มนุษย์ผลิตขึ้นเอง รังสีที่ถูกปล่อยออกมามีได้หลายชนิดแล้วแต่ชนิดของสารกัมมันตรังสี เช่น รังสีแกมม่า รังสีเบต้า หรือรังสีแอลฟ่า เป็นต้น รังสีแต่ละชนิดมีผลต่อร่างกายต่างๆกันขึ้นกับปัจจัยดังนี้

Radioactive
สารกัมมันตรังสีปล่อยรังสีในรูปของพลังงานหรืออนุภาค
Radiation
รังสีต่างชนิดกันมีอำนาจทะลุทะลวงต่างกันจึงมีอันตรายไม่เท่ากัน
  • ขนาดของอนุภาคของรังสี ถ้ารังสีเป็นอนุภาค ยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งจะมีอันตรายมาก เปรียบเสมือนถ้าถูกชนด้วยรถบรรทุกย่อมมีอันตรายมากกว่าถูกชนด้วยรถจักรยานซึ่งมีขนาดเล็กกว่า เช่น รังสีแอลฟ่ามีขนาดใหญ่กว่ารังสีเบต้าก็มีอันตรายมากกว่ารังสีเบต้า ส่วนรังสีแกมม่าเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับรังสีเอ็กซ์ ไม่มีขนาดจึงมีอันตรายน้อยที่สุด แต่รังสีที่มีขนาดใหญ่มักจะแพร่ไปได้ในระยะทางสั้นๆไม่สามารถออกมานอกตัวผู้ป่วย ดังนั้นเมื่อให้สารนี้แก่ผู้ป่วยรังสีเหล่านั้นก็จะอยู่เฉพาะในตัวผู้ป่วยไม่มีผลต่อคนรอบข้าง
  • พลังงานของรังสี ถ้าเป็นรังสีที่มีพลังงานมากก็จะมีอันตรายมากกว่ารังสีที่มีพลังงานน้อย เปรียบเสมือนถูกชนด้วยรถที่แล่นมาอย่างเร็วย่อมอันตรายมากกว่ารถที่เล่นมาช้าๆ เช่น รังสีแกมม่าจากสารไอโอดีน-131 มีพลังงาน 360 keV ก็จะอันตรายมากกว่ารังสีแกมม่าจากสารเทคนีเชี่ยม-99เอ็ม ซึ่งมีพลังงานเพียง 140 keV
  • ปริมาณรังสีที่ได้รับ ถ้ามากย่อมจะมีอันตรายมาก เช่น ถ้าถูกชนด้วยจักรยานคันเดียวที่แล่นมาช้าๆจะไม่เป็นอันตรายมาก แต่ถ้าถูกชนด้วยจักรยานพร้อมๆกัน 10 คันก็ย่อมจะได้รับบาดเจ็บมากกว่า เป็นต้น

ดังนั้นโดยทั่วไปถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรจะไปอยู่ในบริเวณที่มีสารกัมมันตรังสีอยู่เลย เพราะอันตรายย่อมมีอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเด็กหรือหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็น แพทย์จะประเมินแล้วว่าประโยชน์ที่ผู้ป่วยได้รับจะมีมากกว่าอันตรายจากรังสี และแพทย์ก็ยังจะเลือกใช้สารที่มีอันตรายน้อยที่สุดในปริมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

สารกัมมันตรังสีที่ใช้ในการตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์คืออะไร อันตรายหรือไม่
BoneScanMet
การตรวจมะเร็งแพร่กระจายไปกระดูก

สารกัมมันตรังสีที่ใช้ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบ่งเป็น 2 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่

  1. ประเภทที่ใช้ถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัย ประเภทนี้จะใช้สารกัมมันตรังสีที่ให้รังสีแกมม่าหรือรังสีเอ็กซ์ ที่มีพลังงานต่ำและโดยทั่วไปจะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ทำให้แทบไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วยเลย สารกัมมันตรังสีประเภทนี้ที่ใช้มากที่สุดได้แก่ เทคนีเชี่ยม-99เอ็ม (Tc-99m) เช่น การวินิจฉัยมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกด้วยสาร Tc-99m MDP เป็นต้น
  2. ประเภทที่ใช้ในการรักษา วัตถุประสงค์ของการใช้สารกัมมันตรังสีประเภทนี้เพื่อให้มีผลในการรักษา โดยให้รังสีไปทำลายเซลที่ไม่ต้องการ เช่น เซลมะเร็ง หรือเซลต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป เป็นต้น ดังนั้นจึงใช้สารกัมมันตรังสีที่ให้รังสีเบต้าหรือรังสีแอลฟ่า ซึ่งเมื่อเซลถูกรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้ในปริมาณที่มากพอเซลก็จะตาย สารกัมมันตรังสีประเภทนี้ที่ใช้มากที่สุดได้แก่ ไอโอดีน-131 (I-131)
สารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 คืออะไร มีอันตรายหรือไม่
I-131-scan
การรักษามะเร็งไทรอยด์ด้วย I-131

สำหรับสารรังสีไอโอดีน-131 ใช้ในการรักษาโรคบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มะเร็งไทรอยด์ หรือมะเร็งอื่นๆ เหตุที่ไอโอดีน-131 สามารถใช้รักษาโรคได้เพราะมันปล่อยรังสีเบต้าออกมา เมื่อรังสีเบต้าไปถูกเซลมะเร็ง เซลมะเร็งก็จะตาย หรือไปถูกเซลต่อมไทรอยด์ เซลต่อมไทรอยด์ก็จะตายทำให้ต่อมไทรอยด์เป็นพิษหายไปได้ ทั้งนี้รังสีเบต้าจะไม้มีอันตรายต่อคนรอบข้าง อย่างไรก็ดีสารรังสีไอโอดีน-131 ยังสามารถปล่อยรังสีแกมม่าด้วย ซึ่งแม้รังสีแกมม่าจะมีอันตรายน้อยแต่ถ้าผู้ป่วยต้องรับประทานสารรังสีไอโอดีน-131 เป็นจำนวนมาก เช่นผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ ก็จะทำให้มีรังสีแกมม่าจากตัวผู้ป่วยมากและอาจเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างจึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาลที่มีระบบป้องกันรังสีอย่างดี และรอจนกระทั่งปริมาณรังสีเหลือน้อยจนไม่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้างแล้วจึงให้ออกจากโรงพยาบาลได้

การฝังแร่ไอโอดีน-125 คืออะไร มีอันตรายหรือไม่
CAProstateI-125
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วย I-125

แร่ไอโอดีน-125 เป็นสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่ง ซึ่งจะปล่อยรังสีพลังงานต่ำ ดังนั้นโดยตัวมันเองจึงมีอันตรายน้อย มีการใช้สารรังสีไอโอดีน-125 บรรจุแคปซูลและฝังอย่างถาวรในมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งชนิดอื่นๆบางชนิด แม้ว่ารังสีที่ปล่อยออกมาจะมีพลังงานต่ำมีอันตรายน้อย แต่หากผู้ป่วยได้รับการฝังสารในปริมาณมากก็อาจจะเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างได้เช่นเดียวกัน

© 2024 Nuclear Medicine Society of Thailand. All Rights Reserved.